โบราณสถานและศาสนสถานในสมัยกรุงธนบุรี

เมืองธนบุรี

          ในปัจจุบัน เมืองธนบุรีอาจมีฐานะเป็นเพียงเขตเล็กๆ เขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่ในอดีตพบว่าเมืองธนบุรีมีความสำคัญในฐานะราชธานีของไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2310 – 2315 แม้ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี แต่ก็นับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังปรากฏโบราณสถานที่สำคัญในสมัยธนบุรี คือ พระราชวังเดิม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ) รวมทั้งวัดวาอารามต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นในปัจจุบันเมืองธนบุรีจึงได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาควบคู่กันไป

1.  ความเป็นมา

legend_thon_01 legend_thon_02

          เมืองธนบุรี หรือ บางกอกในอดีต คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นแผ่นดินเดียวกันมาก่อน ๆ เป็นที่ราบสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยาที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ดังนั้นจึงมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่า “บางกอก” นั้นอาจจะเพี้ยนมาจากเดิมว่า “บางเกาะ” ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ
เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเคี้ยวมากตั้งแต่นนทบุรี ลงมายังพระนคร กล่าวคือ แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลจากทางเหนือ ผ่านเขตเมืองนนทบุรีลงมาถึงสะพานปิ่นเกล้า แล้วไหลวกไปทางตะวันตกเข้ามาทางคลองบางกอกน้อย อ้อมผ่านตลิ่งชัน บางระมาดแล้ววกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่ (หรือคลองบางหลวง) แล้วไหลลงทางใต้ไปออกทะเลอ่าวไทย เป็นลักษณะรูปเกือกม้า ซึ่งความคดเคี้ยวของแม่น้ำนี้ ทำให้สองฟากฝั่งของแม่น้ำกลายเป็นที่ดอนซึ่งเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “ย่านบางกอก” แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไปมา ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ดังนั้นในสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 – 2089 ) จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้น เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ที่ไหลอ้อมเข้าไปทางคลองบางกอกน้อย ออกคลองบางกอกใหญ่ (คือขุดตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย จนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน) การขุดคลองลัดดังกล่าวทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ จึงไหลไปทางคลองขุดใหม่ และเซาะตลิ่งสองข้างจนกว้างขึ้น กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ (บริเวณที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันนี้) ส่วนลำน้ำเดิมก็ค่อยๆ ตื้นเขินขึ้นลดขนาดลงเป็นลำคลอง ได้แก่ คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ (คลองตลิ่งชัน) คลองบางขุนศรี คลองบางเชือกหนัง คลองวัดประดู่ และคลองบางกอกใหญ่ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

legend_thon_03

           เมื่อขุดคลองลัดสำเร็จ เมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรีจึงถือกำเนิดขึ้น ทางฝั่งตะวันตก หัวมุมคลองบางกอกใหญ่ กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และได้รับการยกฐานะขึ้น เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งตรวจตราจัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านเข้าออก โดยปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091 – 2111) ว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ เพียง “ธนบุรี” ส่วนชื่อ “เมืองบางกอก” นั้นคงเป็นชื่อสามัญ ที่ชาวบ้านและชาวต่างประเทศนิยมเรียก ดังปรากฏชื่อบางกอกในแผนที่และเอกสารของชาวต่างชาติ

          เมืองธนบุรีมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านทางทะเล โดยเฉพาะเมื่อการค้ากับต่างประเทศ เจริญรุ่งเรืองขึ้นถึงขีดสุด ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) เนื่องจากเป็นเมืองท่าพักเรือต่างชาติ ที่เดินทางขึ้นล่องระหว่างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดให้กองทหารฝรั่งเศส ขึ้นมาสร้างป้อมขึ้นทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเพื่อป้องกันข้าศึกซึ่งมาทางทะเล โดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้กำกับการสร้าง เมื่อสร้างป้อมเสร็จจึงพระราชทานนามว่า “ป้อมวิไชยเยนทร์” และโปรดเกล้าฯ ให้ทหารต่างชาติทั้งโปรตุเกส และฝรั่งเศสมาประจำที่ป้อม ภายหลังที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต ป้อมทั้งสองของเมืองธนบุรี (ป้อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก) กลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายไทย กับกองทหารฝรั่งเศสที่ประจำป้อม ซึ่งในท้ายที่สุดฝรั่งเศสเป็นฝ่ายที่ต้องยอมแพ้ และถอนกำลังออกจากราชอาณาจักรไทย จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมบางกอกทางฝั่งตะวันออก โดยให้คงเหลือแต่ป้อมทางฝั่งตะวันตก (ป้อมวิไชยเยนทร์) ไว้เท่านั้น ในคราวกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้ยึดเมืองบางกอกและแต่งตั้งให้นายทองอิน (คนไทยที่ไปเข้ากับฝ่ายพม่า) รักษาป้อมและเมืองบางกอก และหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ จึงโปรดฯ ให้บูรณะเมืองธนบุรีเพื่อใช้เป็นราชธานี

การสถาปนากรุงธนบุรี

  legend_thon_04legend_thon_05legend_thon_06

           การสถาปนากรุงธนบุรี หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จในปี พ.ศ. 2310 ทรงมีพระราชดำริว่ากรุง ศรีอยุธยามีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้าง ราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เนื่องจากเมืองธนบุรีมีชัยภูมิที่ดี เป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล ควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออก ประกอบกับเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ และวัดวาอารามอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นเมืองขนาดย่อมซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะรักษาไว้ได้ และอยู่ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้จริงๆ ก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเล กลับไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยสะดวก อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณที่มีลำน้ำลึกใกล้ทะเล ถ้าข้าศึกไม่มีทัพเรือที่เข้มแข็งแล้วก็ยากที่จะตีเมืองธนบุรีได้ การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีจำเป็นต้องขยายพื้นที่ เพื่อรองรับประชาชนที่หนีภัยสงครามมา และปรับปรุงให้เหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากขึ้น ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ส่วนทางทิศตะวันออกขยายไปจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ (ปัจจุบันเรียกว่า”คลองหลอด”) ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองแล้วสร้างกำแพงเมืองขึ้นตามแนวคลองคู เมือง (กำแพงเมืองนี้ต่อมาได้ถูกรื้อลง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขยายแนวกำแพงเมืองออกไปตามแนว คลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำภู) ส่วนป้อมวิไชยเยนทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” พร้อมทั้งให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง 2 ฟากซึ่งเรียกว่า “ทะเลตม” ไว้สำหรับเป็นที่นาใกล้พระนครสำหรับขอบเขตของราชธานีแห่งใหม่นี้ ครอบคลุมสองฝั่งน้ำ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมือง ฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรี เดิมริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย (วัดอินทาราม) ริมคลองบางกอกน้อย ส่วนฝั่งตะวันออกเริ่มตั้งแต่ศาลเทพารักษ์หัวโชค (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เลียบตามแนวคูเมือง (คลองคูเมืองบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย) ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด โดยภายในกำแพงเมืองธนบุรีเดิม เป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี

กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระราชวังกรุงธนบุรีว่างลง กรุงธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี ได้กลายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กองทัพเรือ ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงปัจจุบัน (สาระน่ารู้.  2555: ออนไลน์)

2.  ประวัติพระราชวังเดิม

grand_palace

          ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2310 พระองค์ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ แทนกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไมสามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ การที่ทรงเลือก กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังไพร่พล ที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ อยู่ใกล้ทะเลทำให้สามารถควบคุม เส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดี และตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยง พล้ำ ก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวก
หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ เจ้าพระยา ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อ เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์) อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชย ประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ทรงสร้างพระบรม มหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้รับการเรียกขานว่า“พระราชวังเดิม” นับแต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดเขตของพระราชวัง กรุงธนบุรีให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองอยู่ภายนอกพระราชวัง รวมทั้งให้รื้อตำหนักแดง ซึ่งเคยเป็น ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระราชวังเดิม ไปปลูกสร้างให้ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นสูง ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย มาประทับที่ พระราชวังเดิม เนื่องจากพระราชวังเดิมและกรุงธนบุรีมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลรักษา

      พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้มาประทับที่พระราชวังเดิมมีดังนี้คือ

สมัยรัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พ.ศ. 2325-2328 พ.ศ. 2328-2352

สมัยรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏพ.ศ. 2354-2365พ.ศ. 2366-2367

สมัยรัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศเรศรังสรรค์พ.ศ. 2367-2394

สมัยรัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทพ.ศ. 2394-2413

สมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี
กรมพระจักรพรรดิพงศ์พ.ศ. 2424-2443

นอกจากนี้ พระราชวังเดิมยังเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ ทรงมีพระราชสมภพ ซึ่งทุกพระองค์เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ พลเรือโทพระชลยุทธโยธินทร์ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลขอพระราชวังเดิมเพื่อให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 โดยทรงมีพระราชกระแสให้รักษาซ่อมแซมสิ่งที่ปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิม ได้แก่ ท้องพระโรง, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, พระตำหนักของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และศาลศีรษะปลาวาฬ

โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ที่พระราชวังเดิมเรื่อยมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2487 จึงได้ย้ายไปอยู่ที่สัตหีบชั่วคราวในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายไปอยู่ที่เกล็ดแก้วก่อนจะย้ายมาตั้งที่สมุทรปราการ ในปี พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบัน ส่วนอาคารเดิมของโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมนั้น กองทัพเรือได้ดัดแปลงเป็นอาคารแบบทรงไทย แล้วใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงปัจจุบัน สำหรับโบราณสถานที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักเก๋งคู่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, พระตำหนักสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งได้รับการบูรณะ ครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2545 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2545  (โบราณสถานในพระราชวังเดิม: ออนไลน์)

2.1    อาคารท้องพระโรง

thronehall_small

          อาคารท้องพระโรงสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2311 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานี อาคารนี้มีรูปทรงแบบไทยประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง หรือวินิจฉัย อยู่ทางทิศเหนือใช้เป็นที่เสด็จ ออกขุนนาง และประกอบพระราชพิธีที่สำคัญมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี และพระที่นั่งองค์ทิศใต้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่า พระที่นั่งขวาง เป็นส่วนพระราชมณเฑียร อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบัน กองทัพเรือได้ใช้โถงท้องพระโรงภายในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เป็นสถานที่ที่จัดงาน และประกอบพิธีสำคัญเป็นประจำ ส่วนพระที่นั่งขวาง ได้ใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญ และเป็นห้องประชุมในบางโอกาส

2.2 ป้อมวิไชยประสิทธิ์

wichaiprasit_small

          ป้อมนี้เดิมชื่อ “ป้อมวิไชยเยนทร์ ” หรือ “ป้อมบางกอก” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างขึ้น พร้อม ป้อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ทรงสร้างพระราชวังในบริเวณป้อมแห่งนี้พร้อมกับปรับปรุงป้อม และพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ใช้เป็นที่ ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ และติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ

2.3 ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก

chinesestyle_kenglek

          อาคารหลังนี้รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง โดย เฉพาะประตูหน้าต่าง เพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดำรงพระ อิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้ซ่อมแซมและดัดแปลงในช่วง พ.ศ. 2367 – 2394 พร้อมกับให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ ในรูปแบบที่สอดคล้องกับอาคารหลังนี้ ปัจจุบัน อาคารนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจทางด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช

2.4ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่

chinesestyle_res_small

          อาคารหลังนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานระหว่างไทยและจีน สันนิษฐานว่าสร้าง ขึ้นระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว โดยสร้างขนานกับอาคารเก๋งคู่หลังเล็กที่อยู่ทางทิศเหนือ ส่วนหลังคาของอาคาร มีการเขียนสีตกแต่งเป็นลวดลายแบบจีน แต่กรอบหน้าต่างมีการจำหลักลายประดับแบบไทย ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงภาพนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในด้านการ ทำนุบำรุงบ้านเมืองในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 2.5ตำหนักสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

phrapin_buil_small

          ตำหนักหลังนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงดำรง พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับที่พระราชวังเดิม ในระหว่างปี พ.ศ. 2367 – 2394 แต่หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ พระบวรราชวัง อาคารหลังนี้จึงได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ตัวอาคารมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก หรือเรียกว่า “ตึกแบบอเมริกัน” และถือได้ว่าเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงค์ชั้นสูง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกหลังแรกๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

2.6ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

taksin_shrine_small

          ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ศาลเจ้าตาก) หลังปัจจุบันนี้ สร้างขึ้น เมื่อครั้งสมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับที่พระราชวัง เดิมในระหว่างปี พ.ศ. 2424 – 2443 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ของอาคารเก๋งคู่ ตั้งประชิดกำแพง ด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ภายในศาลหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช ในท่าประทับยืนและทรงพระแสงดาบ

2.7 ศาลศีรษะปลาวาฬ

whale_shrine_small

         ในระหว่างการขุดสำรวจครั้งล่าสุดได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณพื้นที่ที่ อยู่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก หลักฐานทางเอกสารประกอบแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นซากของอาคารศาลศีรษะปลาวาฬเดิม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวและได้พังลงในคืนวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2443 ซึ่งเป็นคืนที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคาร หลังเดิมตามที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอาคารโถงแบบจีน ส่วนศาลศีรษะปลา วาฬ หลังปัจจุบันทางมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมได้ปรึกษากับกรมศิลปากร และเห็นชอบให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่ได้ขุดพบ เพื่อใช้เป็นที่ จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬ (ที่ได้พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในคราว สำรวจพื้นที่ทางโบราณคดี ในช่วงการบูรณะครั้งล่าสุด) รูปแบบของอาคารหลังปัจจุบันได้ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับอาคารโบราณสถานโดยรอบ โดยยังคงรูปแบบเป็นเก๋งจีน

2.8 เรือนเขียว

greenhouse_small

          อาคารเรือนเขียวคืออาคารโรงพยาบาลเดิม เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงจำนวน 2 หลัง ตั้งอยู่บริเวณ “เขาดิน” ซึ่งเป็นเนินดินตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในเขตกำแพงชั้น ในของพระราชวังเดิม อาคารเรือนเขียวสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงพระราชวังเดิม ให้เป็นโรงเรียนนายเรือและได้ใช้เป็นสถานพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ  (เจริญ ตันมหาพราน.  2553: 159-191)

3. ศาสนสถานที่สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี

3.1 วัดอรุณราชวราราม

temple_thon_01

          วัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง เดิมชื่อวัดมะกอก เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏในแผนผังเมืองและป้อม ที่ชาวต่างชาติเขียนไว้ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เล่ากันว่าเหตุที่วัดมะกอก ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดแจ้งนั้น สืบเนื่องมาจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงล่องเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อหาชัยภูมิที่ตั้งพระนครแห่งใหม่ และเมื่อถึงบริเวณวัดมะกอกนั้นเป็นเวลารุ่งแจ้งพอดี ซึ่งถือว่าเป็นมงคลฤกษ์ จึงหยุดนำไพร่พลขึ้นพัก และได้เลือกบริเวณนั้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นวัดในเขตพระราชฐาน จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม มีพระประสงค์จะให้เป็นเขตพุทธาวาสแบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดแจ้ง” เพื่อให้มีความหมายถึงการที่เสด็จถึงวัดนี้ในตอนรุ่งอรุณ

         วัดแจ้งจึงได้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง สำคัญของแผ่นดินมาตลอดสมัยธนบุรี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ ใน พ.ศ. 2322 ก็ได้มีการ สมโภช และประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระยาสรรค์ก่อการกบฏขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงถูกคุมพระองค์มาผนวชที่วัดนี้ รวมทั้งถูกจับสึกที่วัดนี้เช่นกัน เพื่อนำไป สำเร็จโทษที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ในเวลาต่อมา

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ย้ายราชธานีมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรีเดิม พร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ใหญ่จากวัดบางว้าใหญ่ หรือวัดระฆังโฆษิตาราม มาครอง พร้อมกันนั้นก็โปรดให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม เป็นองค์อุปถัมภ์วัดแจ้งด้วย ซึ่งพระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่หมดทั้งหมด (ขณะนั้นยังดำรงอิศริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) มีวิวัฒนาการเป็นแบบไทยอย่างสมบูรณ์ ประดับผิวภายนอกด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหมด มีความสูงถึง 67 เมตร จากเดิมที่สูงประมาณ 15 เมตร (เอนก นาวิกมูล. 2543: 84)

          วัดอรุณราชวราราม เดิมชื่่อวัดแจ้ง เป็นวัดที่มีตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้่ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ด้านหน้าพระอุโบสถมีรุปปั้นยักษ์ 2 ตน ซึ่งประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบตนสีขาว มีสีว่า สหัสเดชะ ตนสีเขียวมีชื่อว่าทศกัณฐ์ บริเวณภายในประกอบไปด้วย พระวิหารคด วิหารน้อย หอระฆัง ศาลาท่าน้ำ สถานที่สำคัญเป็นสัญลักษณ์ของวัดอุดมได้แก่ พระปรางใหญ่ สร้างขึ้นในราชการ ที่่ 3 – 4 และได้รับการบูรณะมาเรื่อยจนถึงราชการที่ 5 ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งจะมีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากไปเที่ยวเยี่ยมชมทุกวัน ( ท.สุขแสง. 2537:79)

3.2วัดโมลีโลกยาราม

temple_thon_02

         วัดโมลีโลกยาราม หรือ วัดท้ายตลาด เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่า วัดท้ายตลาด เนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่
ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ส่วนพระวิหาร สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระวิหารกั้นเป็น 2 ตอน ปัจจุบัน ตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกให้ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกสุธาราม” ภายหลังมาเรียกกันว่า “วัดโมลีโลกยาราม”

3.3วัดอินทารามวรวิหาร

temple_thon_03

         วัดอินทารามวรวิหาร เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า “วัดบางยี่เรือนอก” หรือ “บางยี่เรือไทย” หรือ “วัดสวนพลู” (ที่เรียกว่าวัดสวนพลู เนื่องจากแต่เดิม ที่ดินใกล้เคียงกับวัดเป็นสวนปลูกพลู) เพราะหากล่องเรือมาจากอยุธยา จะถึงวัดอินทารามหลังสุดในบรรดาวัดที่ตั้งเรียงกันอยู่ 3 วัด ขณะที่จะเรียกวัดราชคฤห์ว่า “บางยี่เรือใน” และวัดจันทารามว่า“บางยี่เรือกลาง”
วัดอินทารามเป็นวัดหลวงสำคัญอันดับหนึ่ง ในแผ่นดินกรุงธนบุรี จัดว่าเป็นวัดประจำรัชกาล ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้ทรงบูรณะเป็นพระอารามหลวงชั้นหนึ่ง ทรงสร้างหมู่กุฏิและถวายที่ดิน ให้เป็นธรณีสงฆ์เป็นจำนวนมาก แล้วโปรดให้นิมนต์พระเถระ ฝ่ายวิปัสสนามาจำพรรษา เพราะมีพระราชประสงค์ จะให้เป็นศูนย์กลางฝึกสมาธิทางวิปัสสนากรรมฐานของประเทศ และใช้ประกอบงานพระราชพิธีสำคัญๆ ต่างๆ มีพระเจดีย์กู้ชาติคู่หนึ่ง ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า ภายในเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระอัครมเหสี ส่วนพระอุโบสถหลังเก่า มีพระพุทธรูปปางตรัสรู้เป็นพระประธานของพระอุโบสถ บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร หรือ เถ้ากระดูกของพระองค์

3.4วัดราชคฤห์

temple_thon_04

         วัดราชคฤห์ หรือ วัดบางยี่เรือใน มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ฝ่ายมหานิกาย เป็นวัดที่สร้างโดยนายกองมอญในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนั้นบางคราวจึงเรียก “วัดบางยี่เรือมอญ” หรือ “วัดมอญ” นอกเหนือไปจากชื่อ “บางยี่เรือใน” หรือ “บางยี่เรือเหนือ”

ในสมัยกรุงธนบุรี เข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดฯ ให้มีการบูรณะซ่อมแซม เพราะเชื่อกันว่าพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกและแม่ทัพคนสำคัญในแผ่นดินกรุงธนบุรี เป็นผู้สร้างพระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันคือพระวิหารใหญ่ และพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ส่วนภูเขาจำลองสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระมณฑป ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง สำหรับให้ประชาชนได้สักการะเป็นงานประจำปีของวัด พระมณฑปนี้สร้างขึ้นภายหลังในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 โดยเริ่มที่วัดนี้เป็นแห่งแรก และได้เป็นที่นิยมสร้างกันต่อมา

3.5 วัดอมรินทรารามราชวรวิหาร

temple_thon_05

           วัดอมรินทรารามราชวรวิหาร หรือ วัดบางหว้าน้อย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง ต่อมากรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) หรือพระยาสุริย-อภัยในช่วงกรุงธนบุรี ได้เป็นผู้สถาปนาขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้พระราชทานนามว่า “วัดอมรินทราราม” คู่กับวัดบางว้าใหญ่ ที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังโฆสิตาราม

3.6วัดระฆังโฆสิตาราม

temple_thon_06

          วัดระฆังโฆสิตาราม หรือ วัดบางว้าใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้อาราธนาพระอาจารย์ศรีขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช ทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช และประจำที่วัดนี้ รวมทั้งมีการเสาะหาพระไตรปิฎกจากภาคใต้ และที่อื่นๆ มากระทำสังคายนาตรวจทาน เพื่อใช้เป็นฉบับหลวงที่วัดนี้ แต่ยังไม่ทันได้สำเร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน อย่างไรก็ตาม การครั้งนี้ก็ได้เป็นประโยชน์ต่อการสังคายนาพระไตรปิฎกในรัชกาลต่อมา

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้ว พระตำหนักทอง ที่ประทับของพระองค์ในพระราชวังเดิม ได้ถูกรื้อมาปลูกเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดแห่งนี้ ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ถูกไฟไหม้ไปในรัชกาลที่ 3 พร้อมๆ กับพระอุโบสถหลังเดิมและหมู่กุฏิสงฆ์ ส่วนพระตำหนักแดงซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์ พระโอรสในกรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวายให้กับวัดนี้ แต่เดิมที่ฝาประจันของพระตำหนัก มีภาพซากศพและภิกษุเจริญกรรมฐานเขียนอยู่ ซึ่งขณะนี้ได้เลือนไปหมดแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้สันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเคยเป็นที่ประทับทรงกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาก่อน

3.7วัดจันทารามวรวิหาร

temple_thon_07

          วัดจันทารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ปากคลองบางยี่เรือ เขตธนบุรี เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่าวัดบางยี่เรือกลาง พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) บูรณะใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดจันทาราม

3.8วัดหงส์รัตนาราม

temple_thon_08

          วัดหงส์รัตนาราม เดิมเรียกกันว่าวัดเจ๊สัวหง สร้างโดยเศรษฐีชาวจีนในสมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงสถาปนาพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิ ในคราวเดียวกับที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอินทารามวรวิหาร(วัดบางยี่เรือนอก) เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตไปแล้ว ประชาชนผู้เคารพนับถือพระองค์ได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น เรียกกันว่า ศาลเจ้าพ่อตากสินวัดหงส์ เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนโดยทั่วไป ต่อมาสมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมจนสำเร็จบริบูรณ์

3.9กุฎีฝรั่ง

temple_thon_09

          กุฎีฝรั่ง คือบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่ากุฎีจีน เดิมนั้น “กุฎีจีน” ใช้เรียกบริเวณด้านใต้ของปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนของชาวจีนจากอยุธยาที่กระจัดกระจายไปเมื่อเสียกรุง และอพยพมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งธนบุรีเป็นราชธานี ยังปรากฏศาลเจ้าเกียนอันเก๋งตั้งอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ และเป็นที่สักการะของคนทั่วไปส่วนกุฎีฝรั่ง เป็นพื้นที่บริเวณต่อเนื่องจากทางใต้ของกุฎีจีน เป็นหมู่บ้านของพวกฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกส ที่มาสร้างค่ายรักษาป้อมบางกอก ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานปักปันที่ดินบริเวณนี้ให้ใน พ.ศ. 2312

คนในชุมชนนี้มิได้มีลักษณะเป็นฝรั่งชัดเจนอีกแล้ว คงเพราะได้มีการสมรสกับชาวไทย นับเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน แต่ยังคงเป็นชุมชนที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อย่างเคร่งครัด โบสถ์ซางตาครูส ของชุมชน เป็นโบสถ์ซึ่งสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อทรุดโทรมลงได้สร้างขึ้นใหม่โดยสังฆราชปาเลอกัว ใน พ.ศ. 2377 และต่อมาใน พ.ศ. 2456 บาทหลวงกูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส ได้สร้างอาคารหลังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมพวกโปรตุเกสเมื่อเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาก็ได้นำวัฒนธรรมในเรื่องอาหาร โดยเฉพาะขนมเข้ามาด้วย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และสังขยา เพราะขนมไทยแบบดั้งเดิมนั้น จะประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล และมะพร้าวเป็นหลัก ส่วนพวกที่ผสมด้วยไข่และ นมเนยเป็นขนมของต่างชาติ ชุมชนนี้มีขนมที่มีชื่อเสียงคือ ขนมฝรั่ง ซึ่งคงเพราะเดิมฝรั่งเป็นผู้ทำ จึงเรียกกันมาจนเป็นชื่อขนม

3.10กุฎีใหญ่

temple_thon_10

           กุฎีใหญ่ เป็นชื่อที่ย่อมาจาก “กุฎีบางกอกใหญ่” บางทีก็เรียกกันว่า “กุฎีต้นสน” เป็นชุมชนมุสลิมที่ปฏิบัติตามแนวทางนิกายสุหนี่ที่อพยพมาจากหัวแหลม หัวรอ หรือ คลองตะเคียน พระนครศรี อยุธยา ซึ่งมีอาชีพค้าขายสินค้าประเภทแป้งกระแจะ น้ำอบร่ำ น้ำมันหอม เสื้อผ้า และสินค้าที่มาจากต่างประเทศซึ่งเรียกว่า เครื่องเทศ รวมทั้งเครื่องใช้ประจำวันต่างๆ โดยออกเร่ขายทางเรือ จึงมีที่พักเป็นแบบเรือนแพปักหลักผูกลอยอยู่ในน้ำ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ได้อพยพล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยา และแวะเข้าจอดตามลำคลองบางกอกใหญ่ เต็มสองฟากฝั่งและลึกเข้าไปจนถึงตลาดพลู ต่อมาจึงได้มีมุสลิมจากภูมิลำเนาอื่นอพยพมาสมทบด้วย โดยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมอยู่กันในเรือนแพ แต่ก็พอมีอยู่บ้างที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรอบๆ บริเวณนั้น จึงเรียกผู้คนในชุมชนนี้ว่า “แขกแพ” ครั้นภายหลังมีอิสลามิกชนมารวมตัวอยู่จำนวนมากไม่สามารถขยับขยายได้ จึงได้มีการสร้าง มัสยิดบางหลวง หรือ กุฎีขาว ขึ้นที่ฟากตรงข้ามบริเวณซอยบางหลวงในปัจจุบัน

3.11 กุฎีบน ล่าง

temple_thon_12 temple_thon_11

         ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 ชาวมุสลิมที่ถือนิกายชีอะห์ หรือสังคมไทยเรียกว่า “เจ้าเซ็น” ได้อพยพหนีพม่าลงมาทางใต้ โดยล่องลงตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้มาพักพิงบริเวณคลองบางกอกใหญ่ โดยอาศัยอยู่ในเรือนแพและเมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณปากคลองมอญ ระหว่างคลองมอญกับคลองวัดอรุณราชวราราม ให้แก่ ท่านก้อนแก้ว ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่ง เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เพื่อสร้างศาสนสถานและเป็นที่อยู่อาศัย โดยชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า กุฎีเจ้าเซ็น หรือ กุฎีหลวง มุสลิมที่ปฏิบัติตามแนวทางชีอะห์จึงมีที่อยู่ใหม่ อย่างไรก็ตาม มุสลิมชีอะห์ บางส่วนมิได้เคลื่อนย้ายตามไปด้วย ยังคงอยู่ที่เดิม

ท่านอากาหยี่ น้องชายของท่านก้อนแก้ว เป็นบุคคลหนึ่งที่มิได้ย้ายไปอยู่ในที่ดินพระราชทาน เนื่องจากได้จับจองที่ดินไว้ผืนหนึ่ง ในบริเวณที่เรียกว่า เจริญพาศน์ ในปัจจุบัน เมื่อท่านก้อนแก้วได้ถึงแก่กรรม ท่านอากาหยี่จึงได้รับพระราชทาน ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแทน และได้สร้างศาสนาสถาน สำหรับชีอะห์อีกแห่งหนึ่งในที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านก้อนแก้วว่า กุฎีบน และเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านอากาหยี่ว่า กุฎีล่าง ที่เรียกว่ากุฎีบน กุฎีล่าง สันนิษฐานว่าคงใช้พระราชวังเดิมเป็นเกณฑ์ ถ้าอยู่ด้านเหนือของพระราชวังเดิมเรียกว่า กุฎีบน ถ้าอยู่ใต้พระราชวังเดิมลงมาเรียกว่า กุฎีล่าง ทุกวันนี้ชุมชนกุฎีบน ได้ย้ายไปอยู่ที่พรานนก บางกอกน้อย เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของกรมสารวัตรทหารเรือจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันทั้งกุฎีบน และกุฎีล่าง ยังเป็นศูนย์รวมของการประกอบศาสนกิจของมุสลิมชีอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงมรณะกรรมของท่านอิมามฮุเซน (หลานของท่านศาสดามุฮัมหมัด) ซึ่งจัดขึ้นในช่วง 10 วันแรกของเดือนมุอัรรอม (เดือนแรกของปีตามปฎิทินอิสลาม) การประกอบพิธีดังกล่าว จะมีการกล่าวบทกลอนซึ่งพรรณาด้วยความเศร้าโศก รันทด สะท้อนเหตุการณ์ครั้งที่ท่านอิมามฮุเซน ได้รับวิบากกรรมจนต้องเสียชีวิตในที่สุด มุสลิมชีอะห์ทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีดังกล่าวพร้อมกัน แต่มีรูปแบบของพิธีกรรม แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ (ศาสนสถานที่สำคัญสมัยกรุงธนบุรี : ออนไลน์)

 

บรรณานุกรม

เจริญ ตันมหาพราน.  (2553).   พ่ออยู่หัวตากสิน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์.

ท.สุขแสง. (2537).  สถานที่สำคัญกรุงเทพ.  กรุงเทพฯ : โอเอส.พริ้นติ้ง.

โบราณสถานในพระราชวังเดิม.  (2556). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ,จาก

http://www.wangdermpalace.org

ศาสนสถานที่สำคัญสมัยกรุงธนบุรี.  (2555).  สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน พ.ศ 2556, จาก

http://www.wangdermpalace.org/thonburi/impt_temple_thai.html

สาระน่ารู้กรุงธนบุรี.  (2555).  สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ.2556 ,จาก

http://www.wangdermpalace.org/thonburi/index_thai.html

เอนก นาวิกมูล. (2543).   เที่ยววัด.  กรุงเทพฯ : ชาตรี ศิลปสนอง